การประกันภัยเงินทดแทนแรงงาน

ปัญหาหนึ่งซึ่งบริษัทต่างๆจะพบอยู่บ่อยๆ คือ การที่พนักงานของตนได้รับบาดเจ็บจากการปฎิบัติงาน ซึ่งถ้ามีการประกันอุบัติเหตุให้กับพนักงานก็จะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายได้ระดับหนึ่ง แต่กรณีที่อุบัติเหตุนั้น ทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสต้องพักรักษาตัวต่อเนื่องยาวนานหรือบางครั้งถึงขั้นทุพพลภาพ อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และมีจำนวนพนักงานค่อนข้างมากก็คือ “ประกันภัยเงินทดแทน” โดยประกันภัยประเภทนี้จะเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติเงินทดแทน และกฎกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกันภัยเงินทดแทนนั้น จะคุ้มครองการประสบอันตราย การเจ็บป่วยถึงแก่ความตายของลูกจ้าง เนื่องจากการทำงาน หรือโรคซึ่งเกิดตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือจากการทำงานให้นายจ้าง โดยเงินทดแทนที่จะจ่ายให้กับลูกจ้างผู้ประสบอันตราย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

  1. .ค่าทดแทน หมายถึง เงินที่จะจ่ายให้ลูกจ้าง หรือ บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร ของลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (การจ่ายค่าทดแทนเป็นไปตาม พรบ.เงินทดแทน มาตรา 18, 19 )
  2. ค่ารักษาพยาบาล หมายถึง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ รักษา การพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็น เพื่อให้ผลของการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยบรรเทาหรือหมดสิ้นไปตาม พรบ.เงินทดแทน มาตรา 13 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วย และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กฎกระทวงกำหนด (ดูได้จากกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 )
  3. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานตาม พรบ.เงินทดแทน มาตรา 15 กรณีลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานตามความจำเป็นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทวง (ดูได้จากกฎกระทรวงกำหนดการจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 )
  4. ค่าทำศพ หมายถึง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพของลูกจ้างตามประเพณีทางศาสนา หรือตามประเพณีแห่งท้องถิ่น เป็นไปตาม พรบ.เงินทดแทน มาตรา 16-17